สาระน่ารู้เกี่ยวกับการประกันคุณาภาพ
    พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 
    พรบ. จัดตั้ง สมศ. พ.ศ. 2543
    คณะกรรมการบริหาร สมศ.
    การปฏิรูปการศึกษา : ผู้เรียนได้อะไร
    จรรยาบรรณของอาจารย์มหาวิทยาลัย
    นโยบายด้านการศึกษา ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
    การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders) มาร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา

 

พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542



          มาตรา ๑   พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒"

          มาตรา ๒   พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

          มาตรา ๓   บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งอื่นในส่วนที่ได้บัญญัติ  ไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

          มาตรา ๔   ในพระราชบัญญัตินี้
          "การศึกษา" หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของ บุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม  การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ   การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
          "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" หมายความว่า การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา
          "การศึกษาตลอดชีวิต" หมายความว่า การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
          "สถานศึกษา" หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชน  ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
          "สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน" หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
          "มาตรฐานการศึกษา" หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้น ในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการ
ส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประเมินคุณภาพทางการศึกษา
          "การประกันคุณภาพภายใน" หมายความว่า การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายใน โดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเอง  หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น
          "การประกันคุณภาพภายนอก" หมายความว่า การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก   โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง  เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนา คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
          "ผู้สอน" หมายความว่า ครูและคณาจารย์ในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ
          "ครู" หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน
          "คณาจารย์" หมายความว่า บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐและเอกชน
          "ผู้บริหารสถานศึกษา" หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบ การบริหารสถานศึกษาแต่ละแห่งทั้งของรัฐและเอกชน
          "ผู้บริหารการศึกษา" หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบ การบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นไป
          "บุคลากรทางการศึกษา" หมายความว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา รวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษาซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับ การจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ
          "กระทรวง" หมายความว่า กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
          "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
          กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


หมวด ๑
บททั่วไป
ความมุ่งหมายและหลักการ

          มาตรา ๖   การจัดการการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

          มาตรา ๗   ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค  และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ  การกีฬา  ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย  และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

          มาตรา ๘  การจัดการศึกษาให้ยึดหลักดังนี้
          (๑)  เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน
          (๒)  ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
          (๓)  การพัฒนาสาระแลกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

          มาตรา ๙  การจัดระบบ โครงสร้าง และกระบวนการจัดการศึกษา ให้ยึดหลักดังนี้
          (๑)  มีเอกภาพด้านนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ
          (๒)  มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          (๓)  มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษา และจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา
          (๔)  มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
          (๕)  ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา
          (๖)  การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น



หมวด ๓
ระบบการศึกษา

          มาตรา ๑๕   การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
          (๑)  การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่ กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
          (๒)  การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมี ความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
          (๓)  การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่น ๆ
          สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้
          ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกัน หรือต่างรูปแบบได้
ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม  รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน

          มาตรา ๑๖  การศึกษาในระบบมีสองระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาระดับอุดมศึกษา
          การศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่าสิบสองปีก่อนระดับอุดมศึกษา
การแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็นสองระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับปริญญา
          การแบ่งระดับหรือการเทียบระดับการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา ๑๗  ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก   ยกเว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา ๑๘  การจัดการศึกษาปฐมวันและการศึกษาขั้นพื้นฐานให้จัดในสถานศึกษา ดังต่อไปนี้
          (๑)   สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ของสถาบันศาสนา ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการและเด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษ หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น
          (๒)   โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนที่สังกัดสถาบันพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่น
          (๓)   ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด

          มาตรา ๑๙   การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้จัดในมหาวิทยาลัย สถาบัน วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้น ๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          มาตรา ๒๐  การจัดการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพ ให้จัดในสถานศึกษาของรัฐ สถานศึกษาของเอกชน สถานประกอบการ หรือโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          มาตรา ๒๑  กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ อาจจัดการศึกษาเฉพาะทางตามความต้องและความชำนาญของหน่วยงานนั้นได้ โดยคำนึงถึงนโยบายและมาตรฐาน การศึกษาของชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


หมวด ๔
แนวการจัดการศึกษา

          มาตรา ๒๒  การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

          มาตรา ๒๓  การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้
          (๑)   ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย และระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
          (๒)   ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
          (๓)   ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
          (๔)  ความรู้ และทักษะด้านคณิตศาสตร์ และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
          (๕)  ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

          มาตรา ๒๔   การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวของดำเนินการ
ดังต่อไปนี้
          (๑)  จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
          (๒)  ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
          (๓)  จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
          (๔)  จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
          (๕)  ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
          (๖)  จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา
ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

          มาตรา ๒๕  รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ

          มาตรา ๒๖  ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา
          ให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ และให้นำผลการประเมินผู้เรียนตามวรรคหนึ่งมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

          มาตรา ๒๗  ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษา
ขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ
          ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

          มาตรา ๒๘   หลักสูตรการศึกษาระดับต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาสำหรับบุคคลตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ต้องมีลักษณะหลากหลาย  ทั้งนี้ ให้จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล ให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
          สาระของหลักสูตร ทั้งที่เป็นวิชาการ และวิชาชีพ ต้องมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุล ทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม
          สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา นอกจากคุณลักษณะในวรรคหนึ่ง และวรรคสองแล้ว ยังมีความมุ่งหมายเฉพาะที่จะพัฒนาวิชาการ วิชาชีพชั้นสูงและการค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาสังคม

          มาตรา ๒๙  ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยน
ประสบการณ์พัฒนาระหว่างชุมชน

          มาตรา ๓๐  ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสม กับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา


หมวด ๕
การบริหารและการจัดการศึกษา

...

ส่วนที่ ๓
การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชน

          มาตรา ๔๓  การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชนให้มีความเป็นอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตาม การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจากรัฐ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเช่นเดียวกับสถานศึกษาของรัฐ

          มาตรา ๔๔  ให้สถานศึกษาเอกชนตามมาตรา ๑๘ (๒) เป็นนิติบุคคลและมีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน ผู้รับใบอนุญาต ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนครู ผู้แทนศิษย์เก่า และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและ กรรมการ วาระการดำรง ตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา ๔๕  ให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภทการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเอกชนในด้านการศึกษา
          การกำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาของรัฐของเขตพื้นที่การศึกษา หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของเอกชน โดยให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับฟังความคิดเห็นของเอกชนและประชาชนประกอบการพิจารณาด้วย
          ให้สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาระดับปริญญาดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

          มาตรา ๔๖  รัฐต้องให้การสนับสนุนด้านเงินอุดหนุน การลดหย่อนหรือการยกเว้นภาษา และสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ในทางการศึกษาแก่สถานศึกษาเอกชนตามความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการให้สถานศึกษาเอกชนมีมาตรฐานและสามารถพึ่งตนเองได้


หมวด ๖
มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา


          มาตรา ๔๗  ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอกระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา ๔๘  ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและ มาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก

          มาตรา ๔๙  ให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา มีฐานะเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมายและหลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละรับดับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
          ให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนังตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธาณชน

          มาตรา ๕๐  ให้สถานศึกษาให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ตลอดจนให้บุคลากร คณะกรรมการของสถานศึกษา รวมทั้งผู้ปกครองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่พิจารณาเห็นว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจของสถานศึกษา ตามคำร้องขอของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคล หรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรองที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษานั้น

          มาตรา ๕๑  ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาใดไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขต่อหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้สถานศึกษาปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากมิได้ดำเนินการ
ดังกล่าวให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษารายงานต่อคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน หรือคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข



 

พรฎ. จัดตั้ง สมศ. พ.ศ. 2543


          มาตรา ๑   พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓"

          มาตรา ๒   พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เป็นต้นไป

          มาตรา ๓   ในพระราชกฤษฎีกานี้
          "สถานศึกษา" หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย   หน่วยงานการศึกษา  หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ  หรือของเอกชน  ที่มีอำนาจหน้าท ี่หรือมี วัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
          "มาตรฐานการศึกษา" หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์ และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง   เพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษา
          "การประเมินคุณภาพภายนอก" หมายความว่า การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา การติดตาม การตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา    ซึ่งกระทำโดยสำนักงานหรือผู้ประเมินภายนอก แล้วแต่กรณี เพื่อมุ่งให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
          "ผู้ประเมินภายนอก" หมายความว่า บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานให้ ทำการประเมินคุณภาพภายนอก
          "การรับรองมาตรฐาน" หมายความว่า กรให้การรับรองการทำการประเมินคุณภาพภายนอกของ ผู้ประเมินภายนอก ที่มีคุณลัษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่สำนักงานกำหนด
          "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
          "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน)
          "ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
          "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
          "ลูกจ้าง" หมายความว่า ลูกจ้างของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
          "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

          มาตรา ๔   ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้


หมวด ๑
การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่


          มาตรา ๕   ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นเรียกว่า "สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน)" เรียกโดยย่อว่า "สมศ."

          มาตรา ๖   ให้สำนักงานมีที่ตั้งของสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง

          มาตรา ๗   ให้สำนักงานมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา  โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

          มาตรา ๘   เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่หลัก ดังนี้
          (๑)  พัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายนอก กำหนดกรอบ แนวทาง และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
          (๒)   พัฒนามาตรฐานและเกณฑ์สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก
          (๓)   ให้การรับรองผู้ประเมินภายนอก
          (๔)   กำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกที่ดำเนินการ โดยผู้ประเมินภายนอก  รวมทั้งให้การรับรองมาตรฐาน   ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก  สำนักงานอาจดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกเองก็ได้
          (๕)   พัฒนาและฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอก จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม และสนับสนุนให้องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพหรือวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ
          (๖)   เสนอรายงานการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และสำนักงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา และการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา รวมทั้งเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

          มาตรา ๙   นอกจากอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ ให้สำนักงานมีอำนาจกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ด้วย
          (๑)   ถือกรรมสิทธิ์  มีกรรมสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
          (๒)   ก่อตั้งสิทธิ  หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
          (๓)   ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศหรือต่างประเทศ  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
          (๔)   จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการประเมินคุณภาพการศึกษา
          (๕)   เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการของสำนักงาน
          (๖)   มอบให้บุคคลทำกิจการที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน
          (๗)   ให้ประกาศนียบัตร หนังสือรับรอง และเครื่องหมายวิทยฐานะในกิจกรรมที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน
          (๘)   กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสำนักงาน และตามที่คณะกรรมการมอบหมาย





คณะกรรมการบริหาร สมศ.


คณะกรรมการบริหาร
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน)

1.  นายอมเรศศิลาอ่อน ประธานกรรมการ
2.  ประธานกรรมการพัฒนาระบบการประเมิน
     คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน(นายจำรัส นองมาก)
กรรมการ
3.  ประธานกรรมการพัฒนาระบบการประเมิน
     คุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา
     (นายสุรินทร์ เศรษฐานิต)
กรรมการ
4.  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
     (นายพนม พงษ์ไพบูลย์)
กรรมการ
5.  ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
     (นายวันชัย ศิริชนะ)
กรรมการ
6.  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
     (นายรุ่ง แก้วแดง)
กรรมการ
7.  นายธนู กุลชล กรรมการ
8.  นายกฤษณพงษ์ กีรติกร กรรมการ
9.  นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการ
10.  นายชนะ กสิภาร์ กรรมการ
11.  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
     (นายรุ่ง แก้วแดง)ทำหน้าที่ผู้อำนวยการเป็นการชั่วคราว
กรรมการและเลขานุการ






การปฏิรูปการศึกษา : ผู้เรียนได้อะไร


โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย


1.  ปัญหาของการศึกษาไทยในปัจจุบัน(ผลงานวิจัย โดย ดร.บุญชม  ศรีสะอาด  และคณะ
     เรื่อง "ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียนของเขต
     การศึกษา 11" วารสารสภาวิจัยแห่งชาติ 33(1) หน้า 91-106 พ.ศ. 2544


          1.   ด้านครูผู้สอน  มีปัญหาเรื่องครูมีหนี้สิน ขาดแคลนครูบางสาขาวิชา สอนไม่ตรงกับวิชาที่เรียนมา ไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่น ไม่สามารถสอนให้บรรลุ เป้าหมายของ
หลักสูตร สอนไม่เต็มที่และไม่ได้รบการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
          2.   ด้านผู้บริหาร  มีปัญหาเรื่องไม่มีการนิเทศภายในที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ไม่บริหารงานวิชาการอย่างจริงจัง ไม่มีอำนาจในการบริหารอย่างสมบูรณ์ และประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ
          3.   ด้านนักเรียน  มีปัญหาเรื่องไม่ตั้งใจเรียนอย่างจริงจัง มีปัญหาครอบครัว ขาดความรัก ความอบอุ่นจากผู้ปกครอง อ่าน เขียน และใช้ภาษาไทยได้ต่ำกว่าระดับ ชั้นและขาดระเบียบวินัยในตนเอง
          4.   ด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน  มีปัญหาเรื่องหลักสูตรมีรายวิชาและเนื้อหาสาระมากเกินไป การเรียนการสอนไม่เป็นไปตามแผนการสอน  หลักสูตรที่นำไปใช้ไม่บรรลุตามจุดมุ่งหมาย หลักสูตรไม่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น  การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของการเรียนรู้ การดำเนินการวัดผลไม่เป็นไปตามหลักวิชาและหลักสูตรขาดศักยภาพในการพัฒนาคน
          5.   ด้านอุปกรณ์  ขาดสื่อการเรียนการสอนและสิ่งอำนวยความสะดวก มีปัญหาเรื่องแหล่งเรียนรู้ที่จำเป็นของโรงเรียน เช่น ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ มีไม่เพียงพอและไม่ได้มาตรฐาน ขาดแคลนวัสดุฝึก อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน และมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน
          6.   ด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม  มีปัญหาเรื่องแหล่งอบายมุข การพนัน ยาเสพติด โรงเรียนห่างไกลชุมชน และชุมชนให้ความร่วมมือกับโรงเรียนน้อย
          7.   ด้านศึกษานิเทศก์  มีปัญหาเกี่ยวกับไม่สามารถนิเทศได้ตามแผนหรือปฏิทินการนิเทศ จำนวนศึกษานิเทศก์ก็ไม่เพียงพอ   ขาดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และเป็นระบบทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลได้ตามที่ต้องการ ขาดเทคนิคการนิเทศและการติดตามที่ดี มีปัญหาด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพ
          8.   ด้านนโยบายและแผน  มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากผู้บริหารไม่ตระหนักถึงการดำเนินงานตามแผนงาน  โครงการและนโยบายที่วางไว้ และนโยบายไม่ต่อเนื่องกัน
          9.   ด้านกลุ่มโรงเรียน  มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนบุคลากรที่ให้บริการด้านวิชาการ
ไม่สามารถปฏิบติตามบทบาทหน้าที่และภารกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
          10.   ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน  ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาน้อยมาก กรรมการโรงเรียนไม่มาร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมของโรงเรียน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นและขาดเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน

2.  การเรียนรู้ คือ หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาไทย

       2.1  การเรียนรู้
               การเรียนรู้มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด  และพฤติกรรมของผู้เรียน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่นานพอสมควร
               เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการเฉพาะบุคคลของผู้เรียนแต่ละคน  ความสำนึกและความพร้อมของผู้เรียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ การเรียนรู้ที่แท้จริงจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  การสอนเป็นกระบวนการสำคัญ เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้  ครูผู้สอนเปรียบเสมือนแหล่งความรู้หนึ่ง  และเป็นผู้จัดการให้เกิดการเรียนรู้
               โดยสรุปแล้ว  การเรียนรู้คือกระบวนการการปลูกฝัง-ถ่ายทอด-ฝึกอบรม สิ่งต่อไปนี้คือ ความรู้ เจตคติ ความเข้าใจ ความเชื่อศรัทธา ระบบคุณค่า ระบบคุณธรรม การควบคุมและดูแลตนเอง ทักษะและการทำงานให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกนึกคิด และพฤติกรรมของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้

       2.2  การสอน
               การสอน คือ กระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก่ผู้เรียน เป็นกระบวนการกระตุ้น เร่งเร้า ชี้แนะ และช่วยเหลือให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
               การสอนจึงถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นเป้าหมายในการวางแผน ขจัดระบบ และวางทรัพยากร และบริหารการศึกษา
               การสอนเป็นวิถี ส่วนการเรียนรู้ คือ จุดหมายปลายทาง ครูจึงมีความสำคัญเหลือเกินในการปฏิรูปการศึกษาไทยในครั้งนี้

       2.3  ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้
               เป้าหมายของการเรียนรู้อยู่ที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของ
ผู้เรียน ประเด็นต่อไปนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง
                    (1)   การเรียนรู้ในทฤษฎีอย่างเดียว หรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น
ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน  ต้องให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าเจาะลึกด้วยตนเอง
จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
                    (2)   ความเข้าใจในเรื่องใดขึ้นอยู่กับระดับความเชื่อต่อสิ่งนั้นด้วย  ความเชื่ออาจเชื่อผิดหรือถูกก็ได้ ครูผู้สอนจึงมีหน้าที่ชี้แนะให้ความรู้ที่ครบถ้วนและเป็นจริงแก่ศิษย์ผู้เรียน
                    (3)   พฤติกรรมต่อสิ่งใดขึ้นกับการให้คุณค่าต่อสิ่งนั้นด้วย  การให้คุณค่า คือ การกำหนดค่าเปรียบเทียบที่บุคคลพึงมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ความรู้ใหม่ ประเด็นสังคมข่าวสารใด ๆ หรือทักษะต่าง ๆ ครูผู้สอนจึงต้องชี้แนะคุณค่าของสิ่งที่จะเรียนรู้แก่ศิษย์ผู้เรียนด้วย
                    (4)   การเรียนรู้จะเกิดได้ดีก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีสมาธิและรู้จักควบคุมตนเอง ครูผู้สอนอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลให้ศิษย์ผู้เรียนรู้จักตนเอง  รู้จักเป้าหมายการศึกษาและเป้าหมายชีวิต และรู้จักใช้เวลา แบ่งเวลา รวมทั้งชี้แนะอบรม สั่งสอนในการครองตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

       2.4  รูปแบบของการเรียนรู้
                    (1)   การบรรยาย(Lecture) โดยครูผู้สอน
                    (2)   วิทยากรรับเชิญ(Invited Speaker)  ให้ความรู้และประสบการณ์แก่ผู้เรียนในความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือความชำนาญในฐานะผู้รับผิดชอบหรือผู้ประกอบการ
                    (3)   ทีมผู้สอน(Team Teaching)  ประกอบด้วยผู้สอนที่หลากหลายความคิดเห็น หรือหลากหลายความเชี่ยวชาญ เพื่อเสนอความรู้ที่ประสานกว้าง
                    (4)   นักเรียนเป็นผู้สอน(Peer Teaching)  มีรูปแบบการจัดหลากหลาย เช่น
                          - แบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากกันและกันในรูปของกลุ่มติวเพื่อน กลุ่มสัมมนา กลุ่มอภิปราย
                          - ชมรมสนใจพิเศษเฉพาะเรื่อง
                          - นักเรียนรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยงนักเรียนรุ่นน้อง
                    (5)   การระดมสมอง(Brain-Storming)  เป็นการแสดงความคิดหลากหลายและเสรีโดย
ผู้เรียน เช่น เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาแล้วจึงหาข้อสรุปรวม
                    (6)   การอภิปรายกลุ่มย่อย(Small-Group Discussion)  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุดในหัวข้อที่กำหนด
                    (7)   การอภิปรายโดยกลุ่มวิทยากร(Panel Discussion)  การนำเอาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาร่วมอภิปรายในหัวข้อเดียวกัน โดยมีผู้นำอภิปรายเป็นผู้นำการประชุม
                    (8)   การประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop)  การประชุมเชิงปฏิบัติการต้องกำหนด
วัตถุประสงค์ของการจัดว่าจะให้ปฏิบัติการเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สำเร็จตามเป้าหมาย   เริ่มโดยการเชิญวิทยากรกลุ่มเล็กมาให้ความรู้แก่ผู้เข้าประชุมเพื่อเป็นการนำ แล้วจึงแบ่งกลุ่มผู้เข้าประชุมเป็นกลุ่มย่อยเพื่อฝึกปฏิบัติการ  โดยมีวิทยากรประจำกลุ่มคอยให้ความเห็นหรือวิจารณ์ หรือชี้แนะจนกลุ่มสามารถปฏิบัติการแล้วเสร็จตามเป้าหมาย
                    (9)   การสัมมนา(Seminar)  เพื่อให้กลุ่มผู้เรียนขนาดเล็กได้ศึกษาลงลึกเฉพาะเรื่องโดยการค้นคว้าจากเอกสารตำรา หรือการวิจัย
                    (10)   การจำลองแบบและการเล่นเกมส์(Simulation and Games)  เพื่อสร้างเรื่องหรือสร้างสถานการณ์จำลอง เพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักลึกถึงประเด็นปัญหา
                    (11)   การสาธิต(Demonstration)  เพื่อแสดงกระบวนการ แสดงการปรากฏจริง หรือสร้างความเข้าใจจากหุ่นจำลอง
                    (12)   กรณีศึกษา(Case Study)  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนจากกรณีที่เกิดขึ้นจริงในการประกอบการ อาจเน้นที่เหตุการณ์ ประเด็นหลักของกรณี ประวัติหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องก็ได้
                    (13)   โครงงาน(Project Work)  มีการเตรียมโครงสร้างและรูปแบบของสาระการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้กระบวนการเรียนรู้มาจากประสบการณ์จริง มีความหมาย มีเป้าหมายให้แรงกระตุ้นและสร้างความกระตือรือร้นได้เป็นอย่างดี
                    (14)   การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่(On-Site Classes)  นำนักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หอดูดาว สวนพฤกษาชาติ วนอุทยาน แหล่งท่องเที่ยว แหล่งโบราณสถาน แหล่งประวัติศาสตร์ และศาสนสถานอื่น ๆ สถานประกอบการ โรงงาน ฯลฯ

(อ้างอิง : Kimondollo, P.M., "Understanding the Dynamics of Teaching-Learning Interactions." Journal of Educaton 28(1) : 110-126.2001, Faculty of Education, Chiang Mai University)



3.  สาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

          (1)   เน้นการให้การศึกษาแก่ปวงชน(EDUCATION FOR ALL) ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน และวัยสูงอายุ รูปแบบการศึกษาจึงต้องหลากหลาย และเหมาะสม
          (2)   เน้นการให้ทุกภาคส่วนในประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันในการจัดการศึกษา(ALL FOR EDUCATION) ผู้ให้การศึกษามีทั้งรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันต่าง ๆ เช่น
ครอบครัว สถาบนศาสนา สถานประกอบการ โรงงาน ฯลฯ
          (3)   ให้มีเอกภาพในการจัดการศึกษา
                - หลอมรวมกระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เป็นกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม(ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2545)
                - รวมการศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน(BASIC EDUCATION) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                - รวมอุดมศึกษา เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการอุดมศึกษา
                - ให้มีสภาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีหน้าที่กำหนดแผนและนโยบายการศึกษาของชาติ
          (4)   กระจายอำนาจความรับผิดชอบในการบริการการศึกษาไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและ
สถานศึกษา
                - กำหนดให้มีระบบเขตพื้นที่การศึกษา
                - กำหนดรูปแบบการบริหารสถานศึกษา
          (5)   ให้มีผู้แทนของประชาชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษา
          (6)   ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
          (7)   ปฏิรูประบบอาชีวศึกษา
          (8)   ปฏิรูประบบครู ผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา
          (9)   ปฏิรูปการเรียนรู้


4.  กล่าวโดยสรุป           

  • เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทยในครั้งนี้ก็คือการปฏิรูปการเรียนรู้
  • เป้าหมายของการปฏิรูปการเรียนรู้ ก็เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต อย่างทั่วถึง และอย่างมีคุณภาพ



 

 

จรรยาบรรณของอาจารย์มหาวิทยาลัย


          ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตระหนักถึงภาระหน้าที่ และพันธกิจของอาจารย์ในการให้การศึกษาและพัฒนาบุคลากรของชาติ  ซึ่งถือว่าเป็นภาระกิจที่สำคัญในการสร้างคนออกไปรับใช้สังคมและพัฒนาชาติบ้านเมืองอาจารย์เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติและเป็นที่มุ่งหวังของสังคมไทย  ในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรม  จำเป็นอย่างยิ่งที่จักต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพที่เหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนของอาจารย์มหาวิทยาลัยสถาบันอุดมศึกษา ในการรักษาและส่งเสริมซึ่งเกียรติคุณ ชื่อเสียงและฐานะของอาจารย์ที่ดี ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในคราวประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2/2543 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้พิจารณากำหนดจรรยาบรรณ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยไว้เป็นแนวปฏิบัติดังนี้
          1.   อาจารย์พึงดำรงให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และบุคคลทั่วไป ทั้งด้านส่วนตัวและการงาน
          2.   อาจารย์พึงสอนศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ ช่วยเหลือและปฏิบัติต่อศิษย์อย่างมีเมตตา และเป็นธรรม
          3.   อาจารย์พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ เสียสละ อดทน ซื่อสัตย์ สุจริต
          4.   อาจารย์พึงปฏิบัติงานโดยมีเสรีภาพทางวิชาการ ไม่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใด
          5.   อาจารย์พึงมั่นศึกษา ค้นคว้า ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
          6.   อาจารย์พึงเป็นนักวิจัยที่มีจรรยาบรรณนักวิจัยตามข้อกำหนดของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
          7.   อาจารย์พึงปฏิบัติตนต่อเพื่อนร่วมงานเยี่ยงกัลยาณมิตร ช่วยเหลือ ส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
          8.   อาจารย์พึงสร้างและส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะ และมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัย
          9.   อาจารย์พึงปฏิบัติตนด้วยความรับผิดชอบต่อผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ


ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2543

 

นโยบายด้านการศึกษา ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

 

นโยบายการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

ด้านการศึกษา


     รัฐบาลจะปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อพัฒนาสังคมไทย ให้เป็นสังคมแห่งความรู้ อันเป็นเงื่อนไขไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ให้คนไทยทั้งปวงได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเรียนรู้และฝึกอบรมได้ตลอดชีวิต และมีปัญญาเป็นทุนไว้สร้างงานและสร้างรายได้ และนำประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและสังคม โดยยึดหลักการศึกษาสร้างชาติ สร้างคน และสร้างงาน ดังนี้
     1. เร่งจัดให้มีระบบและโครงสร้างทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งปวงอย่างแท้จริง
     2. เน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเที่ยงธรรมในการบริหารจัดการศึกษาทุกประเภท และทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา
     3. พัฒนาระบบเทคโนโลยีทางการศึกษาและเครือข่ายสารสนเทศ เพื่อเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้คนไทยทั้งในเมืองและชนบท
     4. จัดให้มีวิทยาลัยชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังขาดแคลนสถาบันอุดมศึกษา
     5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบการจัดการศึกษาและฝึกอบรม โดยรัฐเป็นผู้วางระบบ นโยบายกำกับคุณภาพมาตรฐาน สนับสนุนและระดมทรัพยากร เตรียมความพร้อมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน เครือข่าย ครอบครับ และอื่น ๆ รวมทั้งการจัดการศึกษา เพื่อคนพิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส
     6. สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
     7. ส่งเสริมให้เกิดบูรณาการทางการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและกีฬา ในการให้การศึกษา อบรมแก่เด็กและเยาวชน
     8. ปฏิรูปการเรียนรู้ โดยยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นพลังความคิดสร้างสรรค์ การสร้างนิสัยรักการอ่าน การจัดให้มีห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
     9. ส่งเสริมวิชาชีพครูให้มีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับนับถือ และไว้วางใจจากสาธารณชน รวมทั้งพัฒนาและผลิตครูที่มีคุณภาพและคุณธรรม
   10. ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีวินัย รักงาน และทำงานเป็น
   11. ให้โอกาสแก่ผู้สำเร็จการศึกษาภาคบังคับหรือมัธยมปลาย ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุได้ฝึกงานอาชีพอย่างน้อย 1 อาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการอิสระได้
     12. ปฏิรูปการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และพัฒนาถึงระดับปริญญาตรี เพื่อตอบสนองต่อ ภาคเกษตร อุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เข้าฝึกทักษะในสถานประกอบการ

ด้านการศาสนา
     1. ส่งเสริมและสนับสนุนศาสนศึกษาและศาสนทายาทเพื่อเผยแพร่ศาสนธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาศาสนสถานให้สะอาด ร่มเย็น สงบสุข เพื่อให้เป็นประโยชน์ด้านจิตใจต่อชุมชน
     2. สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาศาสนธรรม และร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะกับสมาชิกในครอบครัว
     3. เอื้อให้ศาสนิกชนต่างศาสนาร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อความสมานฉันท์และเพื่อสันติธรรมในสังคม

ด้านวัฒนธรรม
     1. ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ได้สืบค้นและศึกษาเรื่องราวของมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อการอนุรักษ์ เผยแพร่ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย
     2. พัฒนาแหล่งวัฒนธรรม ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งรายได้ของ ประชาชน
     3. ประสานให้ประชาชนและเยาวชนมีบทบาทและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับสถานศึกษา ครอบครัว และชุมชน
     4. สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิดชูและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างสมศักดิ์ศรีและสร้างสรรค์

 


 

การนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholder) มาร่วมในการประกันคุณภาพ

( กรณีศึกษาโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผศ.ดร. ธวัชชัย ทีฆชุณหเถียร

                  สหกิจศึกษา(Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบแบบแผน โดยจัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษา สลับกับการส่ง
นักศึกษาออกไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือภายใต้การกำกับดูแลและประเมินผลจากผู้ควบคุมงานเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสถานประกอบการนั้นจริง ๆ งานที่นักศึกษาไปปฏิบัติจะต้องตรงกับสาขาวิชาเอกที่นักศึกษาเรียนอยู่ และปฏิบัติงานเต็มภาคการศึกษา ระหว่างการปฏิบัติงานจะมีอาจารย์ไปนิเทศงานและประเมินผลการปฏิบัติงานของนักศึกษาด้วยระบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานการเรียนในห้องเรียนเข้ากับการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบของสหกิจศึกษานี้ เชื่อว่าจะสามารถเสริมทักษะการนำทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างลงตัว ส่งผลให้บัณฑิตมีคุณภาพตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการมากขึ้น และกระบวนการของสหกิจศึกษาจะทำให้สถานศึกษาเกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถานประกอบการ ทำให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยได้ตลอดเวลา ส่วนสถานประกอบการจะได้นักศึกษาไปช่วยงานและอาจใช้โอกาสนี้คัดเลือกนักศึกษาที่มีคุณภาพเป็นพนักงานของสถานประกอบการในอนาคต
สหกิจศึกษาจึงเป็นระบบที่ทุกฝ่าย คือ นักศึกษา สถานประกอบการ และมหาวิทยาลัยได้รับประโยชน์ร่วมกัน(Mutual benefit)

วัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา
1. เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ทางด้านวิชาชีพและการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษาในรูปแบบที่มีคุณค่าเหนือกว่าการฝึกงาน
2. เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย และให้ตรงกับความต้องการของตลาดผลงาน
4. เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัยผ่านนักศึกษาผู้ไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาและคณาจารย์ที่ไปนิเทศงาน
5. เพื่อพัฒนาให้นักศึกษามีคุณสมบัติที่พึงประสงค์มากที่สุด


โครงสร้างการบริหาร
โครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ

- ฝ่ายจัดหางาน
- ฝ่ายนิเทศ
- ฝ่ายแนะแนวพัฒนาอาชีพ
- ฝ่ายวางแผนและงานทะเบียนฯ
หลักสูตรสหกิจศึกษา
- เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
- รุ่น 36 – 39 เป็นหลักสูตรเลือก
- รุ่น 40 เป็นหลักสูตรบังคับ
- เข้าปฏิบัติงานเต็มเวลา(เหมือนลูกจ้าง)
- ลักษณะงานตรงกับสาขาวิชาที่ศึกษาและชัดเจน โดยผ่านการรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจฯ
- ปฏิบัติงาน 1 ภาคการศึกษา หรือมากกว่า(16 สัปดาห์) มีค่า 9 หน่วยกิตต่อภาค (ระบบเดิมรุ่น 30 –37 ภาคละ 6 หน่วยกิต)
- นักศึกษา Non-Coop ต้องเรียนวิชาทดแทนสหกิจ 9 หน่วยกิต

แนวคิดสหกิจศึกษาจะวิจัยพัฒนานักศึกษาได้ดังนี้
1. ทักษะวิชาการ(Hard Skill – Academic Skill)
2. ทักษะมนุษย์(Soft Skill – Human Skill)
3. ทักษะการหางาน – ทำงาน(Job Search Skill and Job Skill)

คุณสมบัตินักศึกษา
- ปฏิบัติงานเมื่อศึกษาในชั้นปีที่ 3 หรือ 4
- GPAX > 2.00
- ผ่านวิชาที่กำหนดและมีทักษะการปฏิบัติงาน
- ผ่านการอบรมตามที่กำหนด
- มีความประพฤติเรียบร้อย
- มีประกันสุขภาพ/อุบัติเหตุหมู่


ความเห็นของนักศึกษาต่อประโยชน์สูงสุดที่นักศึกษาได้รับ (ตามลำดับ%)
ประเด็นประเมิน
1. ได้ประสบการณ์ทำงานจริง
2. การพัฒนาตนเอง
3. การปรับตัวและการวางตัว
4. มีความรู้เพิ่ม
5. รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น
6. มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
7. รู้จักตนเองและแก้ไขข้อผิดพลาด
8. เข้าใจการนำเอาทฤษฎีสู่การปฏิบัติ
9. นำความรู้มาปรับเข้าในห้องเรียน
10. รู้จักบุคคลในอาชีพ

ความเห็นของสถานประกอบการต่อประโยชน์ที่ได้รับ (ตามลำดับ%)
1. สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับ มทส.
2. ช่วยพัฒนานักศึกษา
3. ทราบศักยภาพนักศึกษา มทส.
4. สร้างภาพพจน์ที่ดีต่อสังคม
5. มีโอกาสได้รับความร่วมมือทางวิชาการ มทส.
6. มีนักศึกษาช่วยงาน
7. พนักงานมีเวลาไปสนใจงานที่สำคัญ
8. เป็นวิธีคัดเลือกพนักงานประจำ
9. ช่วยเหลือ มทส.
10. ลดจำนวนพนักงานประจำ

ปรัชญาและประโยชน์ที่ มทส. ได้รับ
ประโยชน์
1. พัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมสถานประกอบการ
2. เกิดความเชื่อมโยงทางวิชาการกับสถานประกอบการ
3. บัณฑิตมีคุณสมบัติสูงกว่าหลักสูตรปกติ
4. ลด On Job Training
ปรัชญา
1. เพิ่มประสบการณ์วิชาชีพในรูปแบบที่มีคุณค่าเหนือกว่า การฝึกงานในระบบเดิม
2. มทส. ควรมี Co –op ต่อไป
3. มหาวิทยาลัยอื่นควรนำ Co-op มาใช้
4. ประโยชน์ร่วมกัน
5. สถานประกอบการร่วมพัฒนาการศึกษา
6. Co-op ดึงดูดความสนใจของผู้สมัคร มทส.

กลยุทธ์การนำผู้มีส่วนได้ มามีส่วนร่วมโครงการ
1. การมีประโยชน์ร่วมกัน
2. การตลาดการประชาสัมพันธ์
3. การให้การสนับสนุนแบบเลขานุการ
4. เน้นคุณภาพและความสมัครใจ
5. ทำให้ผู้ร่วมโครงการฯ รู้สึกมีเกียรติ ศักดิ์ศรี
6. รูปแบบและคุณภาพที่เป็นที่ยอมรับ
7. คุณภาพของเจ้าหน้าที่

สรุปการประเมินผล
1. มีนักศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจต่อโครงการฯ
2. มีสถานประกอบการจำนวนมากเข้าร่วมโครงการฯ(มีจำนวนมากกว่านักศึกษา)
3. นักศึกษาพอใจต่อสถานประกอบการ
4. นักศึกษาได้รับประโยชน์โดยเฉพาะด้านการพัฒนาตนเอง
5. นักศึกษามีความพอใจต่อการสนับสนุนของโครงการฯ และอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา
6. รูปแบบการดำเนินงานของโครงการสหกิจศึกษา เป็นที่พอใจของสถานประกอบการ นักศึกษา และคณาจารย์
    6.1 รวมบริการทุกสาขาวิชา
    6.2 กระบวนการจัดหางาน
    6.3 กระบวนการเตรียมนักศึกษา
    6.4 กระบวนการรับสมัครและคัดเลือกนักศึกษา
    6.5 กระบวนการนิเทศงาน
    6.6 กระบวนการประเมินผล
    6.7 กิจกรรมหลังปฏิบัติงาน
7. สถานประกอบการพอใจกับการปฏิบัติงานของนักศึกษา
8. สาขาวิชาต่าง ๆ มีนโยบายส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าหลักสูตรสหกิจศึกษามากขึ้น
9. บัณฑิตสหกิจศึกษาเหนือกว่าบัณฑิตหลักสูตรปกติ
9.1 การได้รับการเสนองานก่อนจบ
9.2 อัตราการจ้างโดยสถานประกอบการที่ร่วมโครงการสหกิจศึกษา
9.3 คุณภาพของงานที่ได้รับหลังจากจบการศึกษา
ต้องวิจัยต่อในเรื่อง คุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ และการศึกษาในระดับปริญญาโท และอัตราเงินเดือนแรกเข้า

สรุปและวิจารณ์
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมีผลมาจาก

1. มหาวิทยาลัยมิได้บังคับนักศึกษาหรือสถาบันประกอบการร่วมโครงการฯ
2. สถานประกอบการมีจิตใจสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
3. นักศึกษามีความพร้อมและสนใจที่จะหาประสบการณ์ด้านวิชาชีพ
4. โครงการฯ ได้เล็งเห็นถึงความพร้อมของนักศึกษา
5. มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมโดยการตั้งโครงการสหกิจศึกษาและมีระบบอาจารย์ ที่ปรึกษาสหกิจศึกษา
6. การประยุกต์จัดรูปแบบโครงการฯ ได้อย่างเหมาะสม
7. การจัดตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถให้การสนับสนุนโครงการฯ ได้
8. อุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานหรือต้องการลดค่าจ้างงาน
9. สถานประกอบการสนใจใช้หลักการของสหกิจศึกษาอำนวยประโยชน์แก่ตนเอง
10. ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดในการใช้ Co-op ยกระดับนักศึกษา
- นักศึกษาที่เก่งจะปรับตัวได้ทุกสถานการณ์
- นักศึกษาที่ต้องการเรียนต่ออาจต้องการเรียน course work มากกว่า การปฏิบัติงาน
- นักศึกษาที่ด้อยมากๆ จะไม่สามรถยกระดับได้โดยง่าย
Co-op จะช่วยยกระดับนักศึกษาในระดับกลางสู่ระดับที่สูงขึ้น


สหกิจศึกษา ให้มากกว่าการเสริมสร้างทักษะงานอาชีพ
- เสริมสร้างการพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้าน
- เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
- เสริมสร้างทัศนคติที่ดี
- ทราบความถนัดในงานอาชีพของตนเอง
- เพิ่มทักษะการหางานและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงาน


• หน้าแรก   • About us   •News   •FAQ  • Download  • ติดต่อเรา

 



  Copyright 2004 www.qa.ku.ac.th
  
  
Back to thepBack to the top Home0